Doctor At Home: จมน้ำ (Drowning) จมน้ำ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและมีความรุนแรง มักจะทำให้ตายในเวลาเพียงไม่กี่นาที
สาเหตุ
มักเกิดกับเด็กเล็กและผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็น อาจเกิดจากการตกน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ และภาชนะกักเก็บน้ำภายในบ้าน จมน้ำจากอุบัติเหตุ เช่น เรือคว่ำ เรือชน เมาเหล้า โรคลมชัก โรคหัวใจวาย เป็นลม เป็นต้น
อาการ
ผู้ที่จมน้ำมักจะมีอาการหมดสติ และหยุดหายใจ บางรายอาจมีภาวะหัวใจหยุดเต้น (คลำชีพจรไม่ได้) ร่วมด้วย
ถ้าไม่ถึงกับหมดสติ ก็อาจมีอาการปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก อาเจียน กระวนกระวาย หรือไอมีฟองเลือดเรื่อ ๆ (ซึ่งแสดงว่ามีภาวะปอดบวมน้ำ)
บางรายอาจตรวจพบภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันต่ำหรือภาวะช็อก
ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ที่จมน้ำมักจะตายเนื่องจากขาดอากาศหายใจเพราะสำลักน้ำ บางรายอาจตายเนื่องจากภาวะเกร็งของกล่องเสียง (laryngospasm) ทำให้หายใจไม่ได้ สาเหตุเหล่านี้มักจะทำให้ผู้ที่จมน้ำตายภายใน 5-10 นาที
ผู้ที่จมน้ำถึงแม้จะรอดมาได้ในระยะแรก แต่ก็อาจจะตายเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนในภายหลังได้ เช่น ปอดอักเสบ การเปลี่ยนแปลงของระดับเกลือแร่ในร่างกาย ภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ภาวะปอดไม่ทำงาน (ปอดล้ม ปอดวาย) เป็นต้น
ในรายที่ขาดอากาศหายใจเป็นเวลานาน อาจเป็นสมองพิการได้
ภาวะเหล่านี้มักเกิดขึ้นไม่ต่างกันมากนัก ทั้งในพวกที่จมน้ำจืด (แม่น้ำ ลำคลอง บ่อ สระน้ำ) และพวกที่จมน้ำทะเล รวมทั้งอาการแสดงและการรักษาก็ไม่ต่างกันมาก
ข้อแตกต่าง คือ น้ำจืดจะมีความเข้มข้นน้อยกว่าเลือด (พลาสมา) ดังนั้น ถ้ามีน้ำอยู่ในปอดจำนวนมากก็จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดทันที ทำให้ปริมาตรของเลือดที่ไหลเวียนเพิ่มจากเดิม (hypervolemia) มีผลทำให้ระดับเกลือแร่ (เช่น โซเดียม โพแทสเซียม) ในเลือดลดลง ซึ่งอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจวายได้ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก (hemolysis) ได้อีกด้วย
ส่วนน้ำทะเลจะมีความเข้มข้นมากกว่าเลือด น้ำทะเลที่สำลักอยู่ในปอดจะดูดซึมน้ำเลือด (พลาสมา) จากกระแสเลือดเข้าไปในปอด ทำให้เกิดภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ระบบไหลเวียนมีปริมาตรลดลง (hypovolemia) และระดับเกลือแร่ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติหัวใจวาย หรือเกิดภาวะช็อกได้
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จมน้ำมักตายเนื่องจากขาดอากาศหายใจมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับเกลือแร่และปริมาตรของเลือด
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ
ในรายที่สงสัยมีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลทุกราย ไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาเพียงใด เพื่อเฝ้าสังเกตอาการ และหาทางป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น
มักจะทำการเจาะเลือดตรวจระดับแก๊สในเลือด และตรวจหาความเข้มข้นของเกลือแร่ เอกซเรย์ดูว่ามีการอักเสบของปอดหรือปอดแฟบหรือไม่ หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ
การรักษา ให้ออกซิเจน ต่อเครื่องช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือ พลาสมาหรือเลือด
ถ้ามีภาวะหัวใจวายก็จะให้ยาขับปัสสาวะและยารักษาโรคหัวใจ (เช่น ไดจอกซิน)
ถ้ามีปอดอักเสบ จะให้ยาปฏิชีวนะและสเตียรอยด์
การดูแลตนเอง
เมื่อพบผู้ป่วยจมน้ำ ควรทำการปฐมพยาบาล และรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที
การปฐมพยาบาล
การช่วยเหลือผู้ที่จมน้ำอย่างถูกต้องก่อนส่งไปโรงพยาบาล มีผลต่อความเป็นความตายของผู้ป่วยมาก ควรแนะนำวิธีปฐมพยาบาลดังนี้
1. ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจทันที อย่ามัวเสียเวลาในการพยายามนำน้ำออกจากปอดของผู้ป่วย (เช่น การจับแบกพาดบ่า) หรือทำการผายปอดด้วยวิธีอื่น เพราะจะไม่ทันการและไม่ได้ผล
ถ้าเป็นไปได้ ควรลงมือเป่าปาก ตั้งแต่ก่อนขึ้นฝั่ง เช่น หลังจากพาขึ้นบนเรือ หรือพาเข้าที่ตื้น ๆ ได้เเล้ว
เมื่อขึ้นบนฝั่งแล้ว ให้ทำการผายปอดด้วยการเป่าปากต่อไป จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง หรือพาไปส่งถึงโรงพยาบาลแล้ว
วิธีการเป่าปากโดยละเอียด อ่านเพิ่มเติมใน "อาการหมดสติ"
เมื่อเริ่มเป่าปากสักพัก ถ้าหากรู้สึกว่าลมเข้าปอดได้ไม่เต็มที่เนื่องจากมีน้ำอยู่เต็มท้อง อาจจับผู้ป่วยนอนคว่ำแล้วใช้มือ 2 ข้างวางอยู่ใต้ท้องผู้ป่วย ยกท้องผู้ป่วยขึ้น จะช่วยไล่น้ำออกจากท้องให้ไหลออกทางปากได้ แล้วจับผู้ป่วยพลิกหงายและทำการเป่าปากต่อไป
2. ถ้าคลำชีพจรไม่ได้ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้ทำการนวดหัวใจทันที (วิธีนวดหัวใจอ่านเพิ่มเติมใน "อาการหมดสติ")
3. ถ้าผู้ป่วยยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง และศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้ผู้ป่วยกินอาหารและดื่มน้ำทางปาก
4. ควรส่งผู้ป่วยที่จมน้ำไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาเพียงใด ไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุกราย
ในรายที่หมดสติและหยุดหายใจ ควรผายปอดด้วยวิธีเป่าปากไปตลอดทาง อย่าเพิ่งรู้สึกหมดหวังแล้วหยุดให้การช่วยเหลือ (เคยพบว่าการเป่าปากนานเป็นชั่วโมง ๆ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรอดและหายขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจมน้ำที่มีความเย็น อุณหภูมิต่ำกว่า 70 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 21.1 องศาเซลเซียส)
การป้องกัน
1. ระวังอย่าให้เด็กเล็กเล่นน้ำหรืออยู่ในบริเวณใกล้กับน้ำ เช่น แม่น้ำลำคลอง บ่อน้ำ สระน้ำ รวมทั้งโอ่งน้ำ ถังใส่น้ำ ภาชนะกักเก็บน้ำภายในบ้านตามลำพัง
2. ควรส่งเสริมให้เด็กฝึกว่ายน้ำให้เป็น
3. เวลาลงเรือหรือออกทะเล ควรเตรียมชูชีพไว้ให้พร้อมเสมอ
4. ผู้ที่เมาเหล้า หรือเป็นโรคลมชัก ห้ามลงเล่นน้ำ
ข้อแนะนำ
1. วิธีผายปอดแก่ผู้ป่วยจมน้ำที่แนะนำในปัจจุบัน คือ วิธีการเป่าปาก และให้ลงมือทำให้เร็วที่สุด อย่าเสียเวลาในการจับแบกพาดบ่าเพื่อเอาน้ำออกจากปอดดังที่เคยแนะนำกันในสมัยก่อน
2. ผู้ป่วยที่จมน้ำทุกรายไม่ว่าจะหมดสติหรือหยุดหายใจหรือไม่ก็ตาม ควรพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างน้อย 24-72 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในเวลาต่อมา