โรคไตวาย (Kidney Failure, Renal Failure)ไตวาย (Kidney Failure, Renal Failure) คือ ภาวะที่ไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือด ผู้ป่วยมักมีอาการเหนื่อยง่าย มึนงง ปัสสาวะน้อยลง มีอาการบวมที่ขาหรือเท้า ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถขับของเสียและน้ำออกมาผ่านทางปัสสาวะได้ จึงทำให้เกิดของเสียและน้ำตกค้างในร่างกาย
ไตวายแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง โดยอาการอาจต่างกันไป ทำให้วิธีการดูแลรักษาต่างกันไปด้วย ผู้ป่วยไตวายนั้นจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะของเสียที่ตกค้างในร่างกาย รวมถึงภาวะไม่สมดุลของระดับน้ำและแร่ธาตุของร่างกายจะส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายเกิดความผิดปกติ หากปล่อยไว้อาจทำให้เสียชีวิตได้
อาการของโรคไตวาย
โรคไตวายอาจมีอาการที่แตกต่างกันไปตามชนิดของโรคดังนี้
ไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Failure หรือ Acute Renal Failure)
อาการจะเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด โดยเริ่มจากปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย ขาและเท้าบวม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกมึนงง อ่อนเพลีย หรือง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา นอกจากนี้อาจมีอาการปวดหลังบริเวณชายโครง หายใจถี่ บางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ และกรณีรุนแรงอาจมีอาการชักหรือหมดสติเข้าสู่ภาวะโคม่าแบบเฉียบพลัน
ไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Failure หรือ Chronic Renal Failure)
อาการจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว แต่จะค่อย ๆ แสดงอาการออกมาเป็นระยะ โดยระยะของไตวายเรื้อรังจะถูกแบ่งเป็น 5 ระยะตามระดับของค่าประเมินการทำงานของไต (Estimated Glomerular Filtration Rate – eGFR) หรือค่าที่ประมาณว่าในแต่ละนาทีไตสามารถกรองของเสียออกจากเลือดได้เท่าไหร่ ซึ่งคนปกติทั่วไปจะมีค่าประเมินการทำงานของไตอยู่ที่มากกว่า 90 มิลลิลิตรต่อนาที (ml/min)
ระยะของไตวาย มีดังนี้
ระยะที่ 1
ในช่วงแรกของอาการไตวายเรื้อรังจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัดเจน ค่าการทำงานของไตในระยะแรกจะอยู่คงที่ประมาณ 90 มิลลิลิตรต่อนาทีขึ้นไป แต่อาจพบไตอักเสบหรือพบภาวะโปรตีนรั่วออกมาปะปนในเลือดหรือในปัสสาวะ
ระยะที่ 2
เป็นระยะที่การทำงานของไตเริ่มลดลง แต่มักจะยังไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็นนอกจากการตรวจค่าการทำงานของไต ซึ่งค่าการทำงานของไตจะเหลือเพียง 60–89 มิลลิลิตรต่อนาที
ระยะที่ 3
ระยะนี้จะแบ่งออกเป็นอีก 2 ระยะย่อย คือ 3A และ 3B ตามค่าการทำงานของไต โดย 3A จะมีค่าการทำงานของไตอยู่ที่ 45–59 มิลลิลิตรต่อนาที ส่วน 3B จะอยู่ที่ 30–44 มิลลิลิตรต่อนาที ซึ่งในระยะที่ 3 ก็มักจะยังไม่มีอาการใด ๆ สำแดงให้เห็น นอกจากค่าการทำงานของไตที่ทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง
ระยะที่ 4
อาการต่าง ๆ มักจะแสดงในระยะนี้ นอกจากค่าการทำงานของไตจะลดลงเหลือเพียง 15–29 มิลลิลิตรต่อนาทีแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการมึนงง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผิวแห้งและคัน กล้ามเนื้อเป็นตะคริวบ่อยขึ้น อาจมีอาการบวมน้ำที่ตามข้อ ขา และเท้า ใต้ตาคล้ำ ปวดปัสสาวะบ่อยแต่ปริมาณปัสสาวะน้อยลง มีภาวะโลหิตจาง หรือรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวตลอดเวลา
ระยะที่ 5
เป็นระยะสุดท้ายของภาวะไตวาย ค่าการทำงานของไตจะลดลงเหลือน้อยกว่า 15 มิลลิลิตรต่อนาที นอกจากอาการจะคล้ายกับระยะที่ 4 แล้ว อาจมีภาวะโลหิตจางที่รุนแรงขึ้น และอาจมีการตรวจพบการเสียสมดุลของแคลเซียม ฟอสเฟต หรือสารต่าง ๆ ที่อยู่ในเลือด นำมาสู่ภาวะกระดูกบางและเปราะหักง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตได้
สาเหตุของโรคไตวาย
ไตวายสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ส่งผลเสียต่อไตโดยตรงหรือส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ จนทำให้ไตเกิดการทำงานที่ผิดปกติตามไป โดยสาเหตุของไตวายทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังที่พบได้บ่อยมีดังนี้
การสูญเสียเลือดหรือน้ำในร่างกายมากเกินไป ส่งผลให้ไตเสื่อมประสิทธิภาพในการทำงานลงอย่างเฉียบพลัน
ความดันโลหิตสูง ทำให้ผนังหลอดเลือดที่ไหลเวียนเลือดไปที่ไตผิดปกติ หากมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้ไตเสื่อมได้ในที่สุด
โรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูงส่งผลต่อไตทำให้ไตเสื่อม ผู้ป่วยเบาหวานจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นไตวายเรื้อรัง
อาการแพ้อย่างรุนแรง ทำให้ระบบการทำงานในร่างกายล้มเหลว ส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต
การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลวอย่างหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว ตับล้มเหลว ซึ่งกระทบต่อระบบไหลเวียนเลือดทั่วร่างกาย ทำให้ไตได้รับเลือดไปไหลเวียนไม่เพียงพอ
การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด เมื่อแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด เชื้อโรคเหล่านี้จะถูกพาไปยังไต ทำให้ไตถูกทำลาย
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen) หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป หรือซื้อใช้เองโดยไม่อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร อาจนำมาสู่ภาวะไตเสื่อม
ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ลิ่มเลือดอุดตันในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโตในเพศชาย นิ่วในไต หรือโรคมะเร็ง ส่งผลให้เกิดก้อนเนื้อหรือการอุดตันจนขัดขวางระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้ไตขับปัสสาวะออกมาไม่ได้ และเกิดภาวะเสื่อมของไตในที่สุด
ได้รับสารพิษสู่ร่างกาย ร่างกายจึงพยายามขับออกมาทางปัสสาวะ ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น และสารพิษบางชนิดอาจทำลายไตจนทำให้ไตวายได้
นอกจากจากนี้ โรคไตวายอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ อย่างโรคไข้เลือดออกที่มีภาวะช็อก เกิดจากอุบัติเหตุโดยตรงที่บริเวณไต รวมถึงความเสื่อมของไตตามอายุก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้เช่นกัน
การวินิจฉัยโรคไตวาย
ไตวายเป็นอาการที่มักไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้า แต่จะเริ่มแสดงอาการก็ต่อเมื่อประสิทธิภาพในการทำงานของไตลดลง โดยอาการที่เข้าข่ายว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการไตวายมากสามารถสังเกตได้ว่า รู้สึกเหนื่อยง่าย ปัสสาวะน้อยลง มีอาการบวมที่ขาหรือเท้า ผิวหนังมีรอยช้ำง่ายกว่าปกติหรือมีเลือดไหลออกง่ายกว่าปกติ
หากพบความผิดปกติที่อาจเป็นอาการของไตวาย แพทย์จะส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อระบุให้แน่ชัดว่าเป็นโรคไตวายหรือไม่ หรือตรวจดูว่าผู้ป่วยมีอาการอยู่ในระยะใด โดยวิธีการตรวจมีดังนี้
การตรวจปัสสาวะ
แพทย์จะตรวจปัสสาวะเพื่อดูปริมาณของปัสสาวะที่ร่างกายขับออกมา โปรตีนหรือเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวที่ปะปนออกมากับปัสสาวะ ซึ่งบอกได้เบื้องต้นว่าไตยังทำงานได้ดีหรือไม่
การตรวจเลือด
จะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการกรองของไต หากมีภาวะไตวาย ปริมาณไนโตรเจน กรดยูเรีย (Blood Urea Nitrogen, BUN) และครีเอทินิน (Creatinine, Cr) ที่เป็นของเสียมาจากกล้ามเนื้อจะตกค้างในเลือดสูง โดยค่าปกติของคนทั่วไปจะอยู่ที่
BUN: ประมาณ 5–20 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
Cr: ประมาณ 0.6–1.2 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย และ 0.5–1.1 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง
การหาค่าประเมินการทำงานของไต (eGFR)
แพทย์อาจมีการหา eGFR เพิ่มเติมด้วย ซึ่งค่าดังกล่าวคือค่าที่จะแสดงให้เห็นว่าในแต่ละนาทีไตสามารถกรองเลือดได้เท่าใหร่ โดยค่าปกติของคนทั่วไปที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับไตจะอยู่ที่ 90 มิลลิลิตรต่อนาทีขึ้นไป
การเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound)
การตรวจนี้จะแสดงให้เห็นภาพไตของผู้ป่วย ทำให้แพทย์สังเกตเห็นถึงความผิดปกติของไต และระบบทางเดินปัสสาวะได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยปกติแล้วมักจะใช้ร่วมกับวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
นอกจากนี้แพทย์อาจผ่าตัดหรือใช้เข็มเจาะนำเอาตัวอย่างชิ้นเนื้อของไตไปตรวจในห้องปฏิบัติการเฉพาะเพื่อดูความผิดปกติ วินิจฉัยร่วมกับผลตรวจอื่น ๆ และลักษณะทางกายภาพของผู้ป่วย ทำให้สามารถวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติของไตหรือไม่ และถ้ามี เป็นไตวายชนิดใด
การรักษาโรคไตวาย
ภาวะไตวายเป็นอาการที่มีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง จึงอาจมีลักษณะการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนี้
ไตวายเฉียบพลัน
อาการไตวายที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ วิธีการรักษาภาวะไตวายเฉียบพลันจึงจะต้องรักษาที่ต้นเหตุ และผู้ป่วยอาจต้องทำการฟอกไตจนกว่าการทำงานของไตจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในระหว่างที่รักษาต้นเหตุ อีกทั้งแพทย์อาจทำงานร่วมกับนักโภชนาการ เพื่อปรับเปลี่ยนการรับประทานที่ไม่ทำให้ไตทำงานหนักจนเกินไป
หากรักษาอาการไตวายแบบเฉียบพลันได้ตรงจุดก็อาจทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ในระยะเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ แต่บางรายที่ไตมีความเสียหายร้ายแรง อาการไตวายอาจเปลี่ยนจากไตวายเฉียบพลันเป็นไตวายเรื้อรังได้ ในกรณีนี้ แพทย์จะตรวจวินิจฉัยถึงระยะของไตวายและวางแผนการรักษาใหม่อีกครั้ง
ไตวายเรื้อรัง
การรักษาอาการไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยระหว่างการรอการปลูกถ่ายไตจะต้องมีการรักษาเพื่อประคับประคองอาการไปก่อนด้วยการใช้ยา เพื่อรักษาหรือควบคุมไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ไตยิ่งทำงานแย่ลง เช่น การใช้ยาเพื่อรักษาสมดุลกรดด่างในร่างกาย ควบคู่กับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงของผู้ป่วยเบาหวาน หรือควบคุมระดับความดันโลหิตสูง และปริมาณไขมันในเลือด
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาที่จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ ๆ ตามระยะของอาการดังนี้
ไตวายในระยะที่ 1–3 เป็นระยะไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่จำเป็นที่จะต้องพบแพทย์ เพื่อตรวจระบบการทำงานของไต โดยแพทย์จะนัดเพื่อตรวจค่าการทำงานของไตเป็นระยะ ๆ หรือกรณีที่เริ่มมีค่าการทำงานไตที่ลดลงมากขึ้น อาจมีการตรวจเลือดถี่ขึ้น เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
ไตวายในระยะที่ 4–5 เป็นระยะที่ไตทำงานลดลงอย่างมากจะต้องใช้การรักษาหลาย ๆ วิธีร่วมกัน เพื่อประคับประคองอาการให้อยู่ในระดับคงที่ในระหว่างที่รอการผ่าตัดปลูกถ่ายไต อีกทั้งต้องมีการเฝ้าระวังภาวะบวมน้ำ ภาวะกระดูกเปราะบาง โรคโลหิตจาง และการติดเชื้อในไตร่วมด้วย
ในปัจจุบันการรักษาไตวายที่ใช้มี 2 วิธี ได้แก่
การฟอกไต (Dialysis)
เมื่อการทำงานของไตลดลงจนไตไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากเลือดได้ แพทย์จะใช้การฟอกไตเพื่อกำจัดของเสียที่อยู่ภายในเลือดแทน โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการฟอกไตจะจำลองการทำงานของไต สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้
การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) เป็นการใช้อุปกรณ์หรือที่เรียกว่าไตเทียม ในขั้นแรกแพทย์จะผ่าตัดสร้างเส้นเลือดเชื่อมต่อระหว่างเครื่องกับหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง เพื่อให้เลือดหมุนเวียนเข้าไปในเครื่องและถูกฟอกให้สะอาดก่อนที่จะถูกหมุนเวียนกลับเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยจะต้องได้รับการฟอกไตประมาณสัปดาห์ละ 2–3 ครั้ง ครั้งละ 3–4 ชั่วโมง ที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล
การฟอกไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis) เป็นการฟอกไตโดยใช้เนื้อเยื่อที่บริเวณช่องท้องในการกรองของเสียออกจากเลือดแทนไต ร่วมกับน้ำยาฟอกไต วิธีนี้สามารถทำได้เองที่บ้าน และผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติในขณะที่ฟอกไต การฟอกไตด้วยวิธีนี้อาจต้องทำวันละ 3–4 ครั้ง โดยก่อนที่มีการฟอกไตด้วยวิธีนี้ แพทย์จะต้องทำการผ่าตัดเล็กเพื่อใส่ท่อเข้าไปที่บริเวณช่องท้อง เมื่อต้องฟอกไต ผู้ป่วยจะต้องเติมน้ำยาฟอกไตเข้าไป จากนั้นระบบไหลเวียนของเลือดจะทำให้ของเสียและน้ำส่วนเกินออกมาอยู่ในช่องท้อง เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดก็ระบายน้ำส่วนเกินพร้อมกับของเสียออกมาภายนอก
เนื่องจากการฟอกไตจะมีผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น ความดันโลหิตต่ำ เวียนศีรษะ อาเจียน หน้ามืด และวิธีการฟอกไตบางอย่างอาจไม่เหมาะกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยอีกด้วย จึงต้องให้แพทย์ทำการวินิจฉัยและตัดสินใจร่วมกันกับผู้ป่่วยว่าวิธีการฟอกไตแบบไหนเหมาะสมมากที่สุด เพราะหากการฟอกไตได้ผล ระดับของเสียในร่างกายที่สะสมอยู่จะลดลงได้
ผู้ป่วยที่เริ่มได้รับการฟอกไตควรมีการดูแลตนเองควบคู่ไปด้วย โดยให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม อาหารที่มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม จำกัดการบริโภคอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ ดื่มน้ำในปริมาณที่พอดีต่อความต้องการของร่างกาย และที่สำคัญควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงขึ้น เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ทั้งนี้ ปริมาณอาหารและน้ำที่เหมาะสมจะต่างกันไป ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง
การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant)
แม้ผู้ป่วยจะได้รับการฟอกไตแล้ว แต่ภาวะไตวายเรื้อรังจะไม่หายไป จึงต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเท่านั้น การปลูกถ่ายไตมีความยุ่งยากซับซ้อนหลายประการ อีกทั้งจำนวนไตที่ได้รับการบริจาคมักมีน้อยกว่าผู้ที่รอรับการบริจาค และไตที่ได้รับจากการบริจาคมาจะต้องเข้ากับร่างกายของผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตมีอัตราการรอดชีวิตในระดับที่สูงมาก ส่วนใหญ่จะมีชีวิตต่อไปได้มากกว่า 10 ปี
เห็นได้ว่าผู้ป่วยไตวายชนิดเฉียบพลันอาจสามารถรักษาให้หายได้ แต่ไตวายชนิดเรื้อรังต้องรักษาอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไต หากไม่ได้รับการปลูกถ่ายไตก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการฟอกไตไปตลอดชีวิต
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไตวาย
ไตวายเป็นอีกภาวะหนึ่งที่สามารถเกิดอาการแทรกซ้อนได้ ซึ่งอาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยอาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยแบ่งตามชนิดของไตวายมีดังนี้
ภาวะแทรกซ้อนจากไตวายเฉียบพลัน
ไตวายเฉียบพลันอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น
ภาวะน้ำท่วมปอด
ภาวะไตวายเฉียบพลันสามารถส่งผลให้เกิดของเหลวส่วนเกินภายในร่างกายล้นเข้าไปในช่องเยื่อหุ้มปอดจนกลายเป็นภาวะน้ำท่วมปอด ทำให้หายใจลำบาก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
เมื่อร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้ ของเสียจะคั่งอยู่ในกระแสเลือด หากของเสียเหล่านั้นเข้าสู่หัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจนทำให้รู้สึกเจ็บหน้าอกได้
กล้ามเนื้ออ่อนแรง
ภาวะไตวายจะทำลายสมดุลของสารต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะโพแทสเซียมที่คั่งค้างเพราะร่างกายไม่สามารถขับออกไปจากร่างกายได้ หากร่างกายมีโพแทสเซียมสะสมในเลือดมากเกินไป อาจกระทบต่อการทำงานของกล้ามเนื้อทุกส่วน โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ และส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นได้
ไตถูกทำลายอย่างถาวร ในภาวะไตวายเฉียบพลัน ไตอาจยังไม่ถูกทำลาย แต่ถ้าได้รับการรักษาที่ล่าช้าก็จะทำให้ไตถูกทำลายอย่างถาวรและกลายเป็นไตวายเรื้อรังได้
ภาวะแทรกซ้อนจากไตวายเรื้อรัง
อาการจากไตวายเรื้อรังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังนี้
โรคหัวใจและหลอดเลือด
ไตวายเรื้อรังจะส่งผลโดยตรงต่อระบบไหลเวียนเลือด และเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบแข็งมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองได้
โรคโลหิตจาง
นอกจากภาวะไตวายเรื้อรังจะทำให้มีของเสียตกค้างในกระแสเลือดมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ไตไม่สามารถผลิตฮอร์โมนที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงได้จนทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง
โรคกระดูกพรุน
เมื่อการทำงานของไตลดลงจากภาวะไตวายเรื้อรัง ฮอร์โมนที่ควบคุมปริมาณแคลเซียมในกระดูกก็จะบกพร่องไปด้วย ส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้มากกว่าคนปกติ
การป้องกันโรคไตวาย
การป้องกันและชะลอการเกิดภาวะไตวายสามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และลดปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลเสียต่อไตในระยะสั้นและระยะยาว เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่มือสอง เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านการอักเสบติดต่อกันเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ ให้ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยควรออกกำลังกายที่มีความหนักระดับปานกลางให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที เพื่อลดปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะไตวาย เช่น ความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด
ผู้ที่ป่วยด้วยโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไขมันในเลือด ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นและทำให้การทำงานของไตหนักขึ้น หรือทำให้ไตเสื่อมสภาพลง