บริหารจัดการอาคาร: วิธีตรวจสอบความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในบ้าน มีอะไรบ้างระบบไฟฟ้า เป็นระบบที่มีความสำคัญมากที่สุดในบ้าน เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสิ่งที่เราต้องใช้งานอยู่ตลอดทั้งวัน และเป็นระบบที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของบ้านมากที่สุด ทำให้การตรวจสอบระบบไฟฟ้าในบ้านเป็นประจำ ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะมองว่า การตรวจสอบความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในบ้านด้วยตัวเองเป็นเรื่องยาก เพราะระบบไฟฟ้าดูมีความซับซ้อน และต้องใช้ทักษะในการตรวจสอบมากพอสมควร
แต่ในบทความนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับวิธีตรวจสอบความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในบ้านด้วยตัวเองในเบื้องต้น เพื่อให้คุณสามารถตรวจสอบความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง และสามารถป้องกันอันตรายจากไฟรั่ว และไฟฟ้าลัดวงจร ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินได้ ใครอยากได้ข้อมูลดีๆ ในการตรวจสอบระบบไฟฟ้าด้วยตัวเอง ไปดูกันได้เลย!
ตรวจสอบระบบไฟฟ้าด้วยตัวเอง มีจุดไหนที่ต้องเช็กบ้าง?
การตรวจสอบระบบไฟฟ้า เป็นสิ่งที่คุณสามารถเช็กด้วยตัวเอง และควรทำเป็นประจำทุก 3 - 6 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไฟรั่ว ไฟช็อต หรือไฟฟ้าลัดวงจร สำหรับจุดที่ต้องเช็กในการตรวจสอบระบบไฟฟ้าด้วยตัวเองที่เรารวบรวมมาแนะนำในบทความนี้ จะมีทั้งหมด 7 จุดด้วยกันซึ่งแต่ละจุดก็จะมีวิธีการตรวจสอบที่แตกต่างกันไป ดังนี้
1. ตรวจสอบตู้ควบคุมไฟฟ้า
ตู้ควบคุมไฟฟ้า (Consumer Unit) หรือตู้โหลดไฟฟ้า เป็นจุดรวมการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมและป้องกันอันตรายต่างๆ จากไฟฟ้าไว้อย่างเป็นระเบียบ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและซ่อมแซม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะประกอบไปด้วยเซอร์กิตเบรกเกอร์เมน อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด และเซอร์กิตเบรกเกอร์ย่อย
สำหรับวิธีการตรวจเช็กสภาพของตู้ควบคุมไฟฟ้าให้มีความปลอดภัย พร้อมใช้งาน และช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากไฟรั่วไฟดูดได้ จะต้องเช็กที่การเดินสายไฟของตู้ควบคุมไฟฟ้า ไม่มีรอยแตกหรือรอยร้าว และให้ลองทดสอบว่าสามารถใช้งานได้จริง
2. ตรวจเช็กมิเตอร์ไฟฟ้า
มิเตอร์ไฟฟ้า หรือมิเตอร์วัดค่าทางไฟฟ้า (electrical Meter) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัด และแสดงค่าปริมาณทางไฟฟ้า เช่น กระแส แรงดัน ความต้านทาน กำลังไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับการตรวจเช็กมิเตอร์ไฟฟ้า จะต้องตรวจสอบจากการติดตั้งว่า เรียบร้อยแน่นหนา และอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่เอียง ไม่อยู่สูงหรือต่ำเกินไป นอกจากนี้ สายไฟที่ต่อเข้ามิเตอร์ทั้งที่ต่อเข้าและออก จะต้องไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป ที่สำคัญคือ สายไฟที่ต่อเข้ามิเตอร์จะต้องไปพาดผ่านต้นไม้ใหญ่ หรืออยู่บริเวณที่ใช้งานเป็นประจำ เพราะหากเกิดไฟรั่วขึ้นก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้
นอกจากนี้ การตรวจเช็กมิเตอร์ไฟฟ้า ยังทำให้คุณทราบได้ด้วยว่า มีกระแสไฟรั่วที่จุดใดภายในบ้าน โดยวิธีการตรวจสอบคือ ให้ปิดสวิตช์ไฟภายในบ้านทุกจุด รวมถึงถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดออก จากนั้นค่อยมาดูที่มิเตอร์ว่า เฟืองเหล็กหมุนอยู่หรือไม่ หากหมุนอยู่แสดงว่ามีกระแสไฟรั่ว สำหรับวิธีหาจุดที่มีกระแสไฟรั่ว ให้ลองทดสอบที่เครื่องตัดไฟรั่ว RCD (Residual Current Device)
3. ตรวจเช็กสายไฟ
แม้ว่าสายไฟจะมีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน แต่ก็ต้องหมั่นดูแลและตรวจสอบอยู่เป็นประจำ เพราะอาจเกิดการชำรุดจากการถูกสัตว์กัดแทะ หรือหักงอจากการถูกทับ บิด หัก รวมถึงสายไฟที่ซ่อนอยู่บนฝ้าเพดาน และไม่ได้รับการดูแล ก็อาจจะมีการเปื่อยกรอบจากการใช้งานมายาวนานได้เช่นกัน สำหรับวิธีตรวจเช็กสายไฟในเบื้องต้นมีดังนี้
ตรวจสอบการเดินสายไฟ ว่าใช้สีถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ หากมีจุดที่ไม่ถูกต้อง ควรแก้ไขสลับสายใหม่เพื่อความปลอดภัย
ตรวจสอบจุดต่อสายไฟ โดยจะต้องตรวจสอบว่า การต่อสายไฟขันแน่นหรือไม่ และจะต้องมาขันสายให้แน่นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
สังเกตอุณหภูมิของสายไฟ โดยใช้การสัมผัสที่ผิวฉนวนของสาย ถ้ารู้สึกอุ่นหรือร้อนแสดงว่ามีสิ่งผิดปกติ เช่น ใช้ไฟเกินขนาดของสายไฟ จุดต่อสายต่างๆ ไม่แน่น เป็นต้น
สังเกตสีของเปลือกสายไฟ ถ้าสายไฟมีสีเปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีคล้ำ หรือมีฝุ่นจับมาก แสดงว่ามีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ และอาจมีการใช้ไฟเกินขนาดสายไฟ
สังเกตฉนวนของสายไฟ จะต้องไม่มีการแตกกรอบ ไม่มีรอยไหม้ หรือชำรุดเสียหาย หากพบควรรีบแก้ไขและเปลี่ยนสายใหม่ทันที
ตรวจสอบขนาดของสายไฟ ว่าเหมาะสมกับการใช้ไฟฟ้าหรือไม่ หากขนาดสายไม่เพียงพอควรเปลี่ยนสายใหม่
ตรวจสอบสายไฟบริเวณฝ้าเพดาน และสายไฟที่ทะลุผ่านฝ้าเพดานหรือผนัง ว่ามีรอยหนูแทะหรือไม่ เพราะอาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ ทางที่ดีสายไฟที่อยู่บริเวณเหนือฝ้าเพดานหรือใต้โถงหลังคา ควรจะอยู่ในท่อร้อยสายไฟ เพื่อป้องกันความเสียหายจากหนูแทะ และหลังคารั่ว
4. ตรวจเช็กปลั๊กไฟ
ปลั๊กไฟ เป็นอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่อระหว่างแหล่งจ่ายไฟฟ้า กับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ โดยจะมีส่วนประกอบคือ ปลั๊กเสียบ (ปลั๊กตัวผู้) และเต้ารับ (ปลั๊กตัวเมีย) ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องใช้งานปลั๊กไฟทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นประจำ ดังนั้น การตรวจเช็กปลั๊กไฟให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จะช่วยให้ผู้ใช้งานปลอดภัยจากการถูกไฟดูด ไฟรั่ว หรือไฟช็อตได้
สำหรับวิธีตรวจเช็กด้วยตัวเองง่ายๆ ให้ทดสอบด้วยการเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้าในแต่ละจุด หรือซื้ออุปกรณ์ตรวจเช็กไฟมาใช้ในการตรวจสอบ เพื่อความรวดเร็ว ปลอดภัย และแม่นยำได้ แต่ถ้าหากว่าคุณมีความเชี่ยวชาญเรื่องไฟฟ้าอยู่แล้ว ให้ถอดหน้ากากปลั๊กออกมาเช็กสายไฟว่ามีการเดินไฟครบทั้ง 3 เส้นหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบตำแหน่งของสายไฟให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน
5. ตรวจเช็กสวิตช์ไฟ
แม้ว่าสวิตช์ไฟ จะไม่ได้เป็นระบบไฟฟ้าที่ส่งผลเรื่องความปลอดภัยโดยตรง แต่ก็ควรจะตรวจสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ สำหรับวิธีตรวจสอบ ให้ลองเปิดสวิตช์ไฟทุกดวงทั้งภายในและภายนอกบ้าน ว่าสามารถใช้ได้ทุกจุด เชื่อมโยงกับหลอดไฟได้ถูกต้อง อีกทั้งขณะที่เปิด-ปิดสวิตช์ไฟจะต้องไม่ฝืดหรือค้าง บริเวณฝาครอบสวิตช์ต้องปิดสนิท ไม่แตกร้าว หรือหลุดร่วงออกมา และที่สำคัญคือ การติดตั้งจะต้องติดตั้งไว้บริเวณที่ไม่มีความชื้น และอยู่พ้นจากบริเวณที่น้ำท่วมถึง
6. ตรวจเช็กเครื่องใช้ไฟฟ้า
การตรวจเช็กสภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้ง ถือเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะหากเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้ แต่ไปเปิดใช้งานก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร หรือไฟช็อตที่อาจส่งผลต่อระบบไฟฟ้าทั้งบ้านได้ นอกจากนี้ยังควรตรวจสอบว่า เมื่อเปิดใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายๆ เครื่องพร้อมกันแล้ว ไฟในบ้านไม่ตก หรือเกิดไฟรั่ว
สำหรับเครื่องทำน้ำอุ่น ก็จะต้องมีการเดินสายไฟและสายดินเอาไว้บริเวณห้องน้ำ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำ หรือติดตั้งไว้บริเวณที่มีความเปียกชื้นตลอดเวลา เช่น เครื่องซักผ้าและอบผ้า เครื่องปั๊มน้ำ จะต้องมีการต่อสายดินลงพื้นให้เรียบร้อย เพื่อความปลอดภัยขณะเปิดใช้งาน
7. เช็กไฟฟ้ารั่ว
เนื่องจากปัญหาไฟฟ้ารั่ว เป็นสิ่งที่ไม่มีอาการใดๆ บ่งบอกออกมา ทำให้สามารถสังเกตได้ยาก ยิ่งถ้าไม่ได้ตรวจสอบเป็นประจำก็จะไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่ามีไฟรั่วอยู่ ซึ่งปัญหาไฟรั่วนี้ส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น จึงควรตรวจสอบเป็นประจำ และหากพบความผิดปกติใดๆ ก็ควรจะทำการแก้ไขในทันที สำหรับวิธีตรวจสอบ สามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธี ดังนี้
7.1 ตรวจสอบไฟรั่วโดยการสังเกตมิเตอร์ไฟฟ้า โดยให้ปิดไฟทั้งหมด และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชิ้นภายในบ้าน แล้วสังเกตมิเตอร์ไฟฟ้าว่า เฟืองหมุนอยู่หรือไม่ หากยังหมุนอยู่แสดงว่ามีไฟรั่ว ควรเรียกช่างเข้ามาตรวจสอบและแก้ไขในทันที
7.2 ตรวจสอบโดยใช้ไขควงเช็กไฟ โดยให้แตะไขควงเช็กไฟลงบนอุปกรณ์ที่เสียบปลั๊กไว้ ถ้ามีไฟขึ้นแสดงว่ามีกระแสไฟรั่ว ควรเรียกช่างเข้ามาตรวจสอบและแก้ไขในทันที
4 จุดสังเกตสัญญาณเตือนว่ามีไฟรั่ว
นอกจากปัญหาไฟรั่ว จะเป็นต้นเหตุของการก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้แล้ว ไฟรั่ว ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณต้องสิ้นเปลืองเงินในการจ่ายค่าไฟทั้งที่ไม่ใช้งานได้อีกด้วย ดังนั้น นอกจากการตรวจสอบระบบไฟฟ้าต่างๆ ตามที่เราแนะนำไปข้างต้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ และควรมีความรู้ติดไว้เช่นกันก็คือ สัญญาณเตือนว่ามีไฟรั่ว ซึ่งเป็นวิธีสังเกตง่ายๆ ที่ช่วยลดความเสียหายได้รอบด้าน จะมีจุดสังเกตอะไรบ้าง เราไปดูกันเลย
1. เครื่องตัดไฟทำงานบ่อย
เครื่องตัดไฟรั่ว (Residual Current Device - RCD) หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า Safety Cut เป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบและติดตั้งในระบบไฟฟ้า มีหน้าที่ในการตัดกระแสไฟฟ้าในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อมีกระแสไฟฟ้าเข้า-ออก หรือมีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ารั่วได้ ดังนั้นอันดับแรกให้ลองสำรวจการทำงานของเบรกเกอร์ก่อนว่าทำงานปกติหรือไม่ หากทำงานได้ปกติดี แต่เบรกเกอร์ตัดไฟบ่อยๆ ก็สามารถสรุปได้เลยว่า อาจจะมีกระแสไฟฟ้ารั่วเกิดขึ้นภายในบ้านของเราได้ โดยเครื่องตัดไฟสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
1.1 เครื่องตัดไฟรั่วแบบไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน (Residual Current Circuit Brakers - RCCB) เป็นเครื่องตัดไฟที่ไม่ได้มีการออกแบบมาเพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าโหลดเกิน หรือกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้น ในการติดตั้งทุกครั้ง จะต้องติดตั้งร่วมกับฟิวส์ หรือเบรกเกอร์ โดยจุดประสงค์หลักของการติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วประเภทนี้คือ เพื่อป้องกันอันตรายจากการเกิดไฟดูด
1.2 เครื่องตัดไฟรั่วแบบมีอุปกรณ์ป้องกัน (Residual current circuit breaker with overcurrent protection) เป็นเครื่องตัดไฟที่สามารถตัดวงจรได้ทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็น กรณีเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว กรณีเกิดกระแสไฟฟ้าเกิน และกรณีไฟฟ้าลัดวงจร โดยจุดประสงค์หลักของการติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วประเภทนี้คือ เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย
2. ค่าไฟสูงขึ้นผิดปกติ
หากพบว่าบิลค่าไฟฟ้าสูงขึ้นผิดปกติ และไม่ได้เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการขึ้นค่า FT ของการไฟฟ้า ให้ลองสังเกตด้วยการจดเลขมิเตอร์เอาไว้ จากนั้นลองปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชิ้นภายในบ้านโดยไม่ต้องคัทเอาท์ลง แล้วไปสังเกตแผ่นจานที่มิเตอร์อีกครั้งว่ามีการหมุนหรือไม่ หากแผ่นจานยังหมุนอยู่แสดงว่าในบ้านของคุณมีไฟรั่ว
3. เมื่อสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วถูกไฟดูด
สายดิน มีหน้าที่ในการนำกระแสไฟฟ้าที่รั่วให้ไหลลงดิน แทนการไหลผ่านร่างกายของเรา ซึ่งในกรณีที่มีการติดตั้งสายดิน และเบรกเกอร์แล้ว แต่เมื่อสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วยังถูกไฟดูดอยู่ สาเหตุของการเกิดไฟดูดนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ การมีไฟฟ้ารั่วในวงจรไฟฟ้า และการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
สำหรับวิธีทดสอบ ให้ลองตรวจสอบสภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้งานก่อน หากพบว่ามีการชำรุดเสียหาย ก็ควรจะรีบซ่อมแซมให้เรียบร้อย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ไขควงวัดไฟฟ้า (Test Lamp) แตะบริเวณเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือบริเวณที่ถูกไฟดูด หากไขควงมีไฟสว่างขึ้น แสดงว่าบริเวณหรือเครื่องใช้ไฟฟ้ามีไฟรั่ว
4. อุณหภูมิในบ้านสูงขึ้นผิดปกติ
ไฟรั่ว อาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิภายในบ้านสูงขึ้นผิดปกติ เนื่องจากมีการไหลเวียนไฟฟ้าลงสู่พื้นดิน ผ่านวัสดุที่นำไฟฟ้า จนทำให้เกิดความร้อนขึ้นมามากกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น หากเกิดความร้อนในจุดที่ไม่ควรจะเป็น แนะนำว่าให้รีบตรวจไฟรั่ว ด้วยเครื่องมือวัดกระแสไฟฟ้าในทันที หากพบว่ามีไฟรั่วให้รีบปิดระบบไฟ แล้วเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญมาซ่อมแซมในทันที