ตรวจโรคสายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia) สายตาผู้สูงอายุ เป็นภาวะเสื่อมตามอายุ ภาวะดังกล่าวมักจะเกิดในคนแทบทุกคนเมื่ออายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป
สาเหตุ
ตาคนปกติจะมองดูวัตถุไกล ๆ ได้สบาย ๆ แต่ถ้าต้องดูวัตถุที่อยู่ใกล้ กล้ามเนื้อปรับสายตาจะหดตัว เพื่อปรับให้แก้วตา (เลนส์ตา) มีความโค้งและหนาตัวมากขึ้น (accommodation) ทำให้แสงหักเหตกที่จอตาพอดี แต่ในผู้สูงอายุเนื่องจากความเสื่อมตามอายุ ทำให้เลนส์ตาขาดความยืดหยุ่น จึงทำให้ความสามารถในการปรับสายตาดังกล่าวลดน้อยลง จึงมีความลำบากในการมองดูวัตถุที่อยู่ใกล้
ผู้ที่มีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ไมแอสทีเนียเกรวิส) หรือใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ (เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้ซึมเศร้า ยาขับปัสสาวะ) อาจทำให้มีอาการสายตายาวก่อนวัยอันควร คือ ก่อนอายุ 40 ปี
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการมองใกล้ไม่ชัด เวลาอ่านหนังสือต้องถือหนังสือออกไปไกลกว่าระยะปกติ จนบางครั้งยื่นออกไปจนสุดแขน หากเพ่งมองนานๆ ก็อาจมีอาการปวดเมื่อยตา (ตาล้า ตาเพลีย) และปวดศีรษะ บางรายอาจมีอาการมองเห็นภาพซ้อน
ผู้ป่วยมักใช้สายตามองระยะใกล้ ๆ (เช่น อ่านหนังสือ เย็บผ้า สนเข็ม เป็นต้น) ได้ลำบาก และจะเป็นมากขึ้นเมื่อแสงสลัว หรือหนังสือตัวเล็กมาก อาจมีอาการเห็นภาพซ้อน
ผู้ที่เป็นสายตาสั้นอยู่ก่อน อาจสังเกตว่าต้องถอดแว่นสายตาสั้นออกเมื่อต้องอ่านหนังสือในระยะใกล้ตา โดยสามารถถือหนังสือให้ห่างจากตาเท่ากับคนอายุน้อยที่สายตาปกติ
ภาวะแทรกซ้อน
มีปัญหาในการอ่านหนังสือ หรือการมองวัตถุที่อยู่ใกล้ และอาจทำให้มีอาการปวดเมื่อยตาและปวดศีรษะจากการเพ่งมอง
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการใช้เครื่องตรวจวัดสายตาและการตรวจสุขภาพตาซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน และอาจวัดสายตาด้วยการทดลองให้มองผ่านเลนส์หลาย ๆ ขนาดเพื่อหาขนาดที่ให้ความคมชัดที่สุด
บางครั้งแพทย์อาจให้ยาหยอดตาขยายรูม่านตา เพื่อเปิดมุมกว้างสำหรับการตรวจภายในลูกตาได้ละเอียด อาจทำให้เห็นแสงจ้า หรือรู้สึกตาพร่ามัวอยู่สักพักใหญ่ และจะหายดีหลังจากยาหมดฤทธิ์
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะทำการตรวจวัดสายตา และตัดแว่นชนิดเลนส์นูนให้ผู้ป่วยใส่ หรือให้ใส่เลนส์สัมผัส (คอนแทคเลนส์) เพื่อช่วยให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ดีขึ้น
เมื่ออายุมากขึ้น อาจต้องเปลี่ยนแว่นให้หนาขึ้นทุก 2-3 ปี เนื่องจากกำลังในการหักเหแสงของตาจะอ่อนลงตามอายุ
ในผู้ที่เป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงอยู่ก่อน อาจต้องใช้แว่นสายตา 2 อัน เพื่อใช้มองไกลอันหนึ่งและมองใกล้อันหนึ่ง หรืออาจใช้แว่นที่ใช้เลนส์ชนิดเอนกประสงค์ (เลนส์โปรเกรสซีฟ) เพียงอันเดียว สามารถใช้มองไกล (ผ่านเลนส์ชั้นบน) และใช้มองใกล้ (ผ่านเลนส์ชั้นล่าง)
บางรายแพทย์อาจทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น การทำเลสิก (LASIK), การฝังเลนส์ตาเทียม (intraocular lens implant/IOL)
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น อาการมองใกล้ไม่ชัด เวลาอ่านหนังสือต้องถือหนังสือออกไปไกลกว่าระยะปกติ มีอาการปวดเมื่อยตา (ตาล้า ตาเพลีย) และปวดศีรษะเวลาเพ่งมองนาน ๆ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นสายตาผู้สูงอายุ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรดูแลสุขภาพตา โดยการปฏิบัติตัว ดังนี้
- ไม่สูบบุหรี่
- บริโภคอาหารสุขภาพ โดยลดของมัน ของหวาน ของเค็ม และกินผัก ผลไม้ และปลาให้มาก ๆ
- ลดการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลตโดยการสวมแว่นตากันแดดเวลาออกกลางแดดจ้า
- ใส่แว่นสายตาที่เหมาะกับระดับสายตา
- ใส่อุปกรณ์ป้องกันตาเวลาทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของตา (เช่น เล่นกีฬา ตัดหญ้า ทาสี หรือการสัมผัสสารเคมี)
- ควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง (ถ้าเป็นโรคเหล่านี้)
- ป้องกันอาการตาล้า โดยการพักตาเวลาใช้สายตามาก (เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ดูจอคอมพิวเตอร์) ทุก ๆ 20 นาที ให้มองวัตถุที่อยู่ห่างระยะ 20 ฟุต นาน 20 วินาที
- ทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาในที่ ๆ มีแสงสว่างที่มากพอ
- หมั่นตรวจเช็กสุขภาพตา (ตามที่แพทย์แนะนำ)
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
สายตามีความผิดปกติมากขึ้น หรือใส่แว่นสายตาแล้วยังมองเห็นไม่ชัด
มีอาการตาล้า หรือปวดศีรษะบ่อย
สงสัยมีภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะมาก ปวดตามาก ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน เห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลช หรือเห็นจุดดำคล้ายเงาหยากไย่หรือแมลงลอยไปมา เป็นต้น
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากเกิดจากความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น
ข้อแนะนำ
1. สายตาผู้สูงอายุ เป็นภาวะเสื่อมตามอายุ ซึ่งมักจะเกิดในคนแทบทุกคนเมื่ออายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยมักใช้สายตามองระยะใกล้ ๆ (เช่น อ่านหนังสือ เย็บผ้า สนเข็ม เป็นต้น) ได้ลำบาก และจะเป็นมากขึ้นเมื่อแสงสลัว หรือหนังสือตัวเล็กมาก แต่ยังมองวัตถุที่อยู่ไกลได้ชัดเจน สามารถแก้ไขง่าย ๆ ด้วยการสวมแว่นสายตาเฉพาะเวลาอ่านหนังสือและมองระยะใกล้ ๆ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงแต่อย่างใด
2. ในปัจจุบันมีวิธีใหม่ ๆ ในการผ่าตัดรักษาสายตาที่ผิดปกติ นอกจากการผ่าตัดร่วมกับการใช้เลเซอร์ (เช่น การทำเลสิก) แล้ว ยังมีวิธีการผ่าตัดฝังเลนส์ตาเทียม (intraocular lens implant/IOL) โดยแพทย์จะผ่ากระจกตาเป็นรอยเล็ก ๆ แล้วฝังเลนส์ตาเทียมเข้าไปในตาของผู้ป่วย ซึ่งช่วยให้จุดรวมแสงของภาพของวัตถุที่อยู่ไกลตกตรงจอตา ทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้น
อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้มีข้อดี ข้อเสีย ข้อห้ามและข้อควรระวังต่าง ๆ กันไป ควรปรึกษาจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ได้ความชัดเจน ว่าวิธีไหนที่เหมาะกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย