โรคปอดอักเสบในเด็ก สังเกตอย่างไร? (Pneumonitis) ปอดอักเสบ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ปอดบวม” เพราะมีลักษณะการอักเสบของเนื้อปอดที่อาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงนับเป็นโรคร้ายที่พ่อแม่ควรรีบหาทางป้องกัน และวิธีการป้องกันให้แก่ลูกน้อย
สาเหตุที่ทำให้ลูกป่วยเป็นปอดอักเสบคืออะไร
เกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อและปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่โดยส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งในกลุ่มเด็กเล็กนั้นจะพบว่ามีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียร่วมกัน เชื้อไวรัสที่พบบ่อย คือเชื้อ Respiratory Syncytial Virus (RSV) เชื้อ Influenza (ไข้หวัดใหญ่) เชื้อ parainfluenza ส่วนผู้ป่วยอักเสบที่มีเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุนั้น เกิดจากการติดเชื้อ Streptococcus pneumoniae มากที่สุด เชื้อแบคทีเรียทีเป็นรายอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุ ได้แก่เชื้อ Haemophilus influenza Type B หรือ ฮิบ,เชื้อ Staphylococcus aureus หรือ กลุ่มเชื้อ Mycoplasma pneumoniae, Chlamydia pneumoniae.
ปอดอักเสบ ติดต่อกันได้อย่างไร
เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุมักจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วยและสามารถแพร่กระจายได้โดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน การสำลักเอาสารเคมี หรือเศษอาหารเข้าปอด การแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด เช่น การฉีดยา การให้น้ำเกลือ การอักเสบในอวัยวะส่วนอื่นๆ เป็นต้น
อาการปอดอักเสบ
มีไข้ ไอ หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจเร็ว หายใจปีกจมูกบาน ซี่โครงบาน อกบุ๋ม ซึม อาจมีอาการตัวเขียวได้ อาจรับประทานนมหรือดูดนมลำบาก
ในบางรายอาจร้องกวน งอแง กระสับกระส่าย
อาการส่วนมากในเด็กมักไม่มีลักษณะเฉพาะ ผู้ป่วยอาจมีไข้ หรือไม่มีไข้ก็ได้ อาจมีอาการซึม อาเจียน และไม่ยอมดูดนมหรือน้ำ
ในเด็กโตอาจจะมีอาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าออก
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากปอดอักเสบ
การติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด กรณีที่ติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรีย
ภาวะช็อก กรณีติดเชื้ออย่างรุนแรง
ภาวะมีน้ำหรือเป็นหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด
ภาวะมีฝีในปอด
วิธีการรักษาปอดอักเสบ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. การรักษาแบบทั่วไป
แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เพียงพอ ในรายที่หอบมาก ท้องอืด รับประทานอาหารไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณาให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำ และงดอาหาร
ให้ออกซิเจนในรายที่มีอาการตัวเขียว หายใจเร็ว หอบ ชายโครงบุ๋ม กระวนกระวายหรือซึม
ใช้ยาขยายหลอดลมในรายที่ได้ยินเสียงหลอดลมตีบ
ในกรณีที่ให้สารน้ำที่เหมาะสมแล้ว ยังมีเสมหะเหนียวอยู่ อาจใช้ยาละลายเสมหะ
ทำกายภาพบำบัดทรวงอก เพื่อให้เสมหะถูกขับออกจากปอดและหลอดลมได้ดีขึ้น
รักษาอื่นๆ ตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้
สำหรับผู้ที่หายใจเหนื่อยมาก แพทย์จะพิจารณาถึงการใส่ท่อหลอดลม และเครื่องช่วยหายใจ
2. การรักษาจำเพาะ
ในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส จะไม่มียารักษาจำเพาะ ยกเว้น ไข้หวัดใหญ่และโควิด-19ที่มียาต้านเชื้อไวรัส ส่วนไวรัสชนิดอื่นๆ จะให้การรักษาตามอาการ
รักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างเร็วที่สุด หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
คำแนะนำในการป้องกันปอดอักเสบ
หลีกเลี่ยงการอยู่ที่แออัด ในช่วงโรคระบาด
หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากไอรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น
ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล
ไม่ควรให้เด็กเล็กทีอายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงคลุกคลีกับผู้ป่วย
รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
ใช้ช้อนกลางตักอาหารเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช้หลอดดูดน้ำ หรือผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น
ฉีดวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไอพีดี หรือฮิบ หากสงสัยว่าลูกมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที